ประวัติศาสตร์ของกัญชา
กัญชา เป็นหนึ่งในพืชที่เก่าแก่ที่สุดที่ปลูกโดยมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย โดยกัญชามีกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย สันนิษฐานว่ามีการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างอยู่ทางตอนกลางของทวีป ได้แก่ แถบประเทศอิหร่าน ตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ตอนเหนือของประเทศอินเดียบริเวณแคว้นแคชเมียร์และเชิงเขาหิมาลัย และประเทศจีน โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นแรกของการใช้กัญชาพบที่ประเทศจีนระบุว่าได้ปลูกเพื่อใช้เส้นใยตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล มีการนำกัญชาไปใช้เป็นยาแผนจีนโบราณที่ได้บันทึกไว้ในตำรายาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ ตำรายาหวงตี้เน่ยจิง ใช้รักษาอาการปวดไขข้ออักเสบ อาการท้องผูก โรคมาลาเรียและอื่น ๆ ในสมัยจักรพรรดิฉินและฮั่นในช่วง 2,700 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ที่ประเทศอินเดียได้เริ่มนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และทางศาสนาสำหรับการผักผ่อนหย่อนใจในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล และกัญชาก็ได้กระจายไปแถบยุโรปและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในช่วง 450 ปีก่อนคริสตกาล จนมาถึงในช่วง ศตวรรษที่ 18 กัญชาได้ถูกศึกษาในบริบททางเภสัชกรรมและพบผลในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย จนเป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์เรื่อยมา
สายวิวัฒนาการของกัญชา
ในปัจจุบันเราอาจจะเคยได้ยินมาว่ากัญชามีเป็นร้อยๆ สายพันธุ์ (strain) ที่เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติและอีกนับไม่ถ้วนที่เกิดจากการผสมพันธุ์ของมนุษย์เพื่อพัฒนาและแสวงหาคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปใช้งานในด้านต่างๆ แต่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ จึงได้มีการแบ่งสายพันธุ์ของกัญชาในโลกนี้ออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก (species) โดยอาศัยลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติในทางวิชาการ แบ่งได้ดังนี้ คือ กัญชง (Hemp, Cannabis sativa), กัญชา (Marijuana, Cannabis indica) และ รูเดอลาริส (Cannabis ruderalis) (รูปที่ 1 )
รูปที่ 1 ลักษณะของกัญชาสายพันธุ์หลัก
กัญชง (Hemp, Cannabis sativa) เป็นพันธุ์เก่าแก่สุดที่มนุษย์นำมาใช้ในหลายจุดประสงค์ตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งใช้ในการบริโภค สิ่งทอ และยารักษาโรค สายพันธุ์นี้เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ชอบกลางวันที่ยาวนานและแดดแรง เช่น ประเทศไทย โคลัมเบียและเม็กซิโก สายพันธุ์นี้ลำต้นสูง อาจสูงได้ถึง 4-5 เมตร ใบรูปหยัก ใบแหลม มีแฉก ๆ สีใบออกเขียว (รูปที่ 2) จัดเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกยากสุดและใช้เวลาออกดอกนานสุด สายพันธุ์นี้จัดเป็นสายพันธุ์ที่ให้เส้นใยเป็นหลัก
รูปที่ 2 ลักษณะทั่วไปของกัญชง (Hemp, Cannabis sativa)
กัญชา (Marijuana, Cannabis indica) เป็นกัญชาสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีทั้งในและบริเวณโดยรอบของประเทศอินเดีย รวมถึงพื้นที่กว้างใหญ่ของแถบเอเชียกลาง สายพันธุ์นี้จะเป็นไม้พุ่มที่มีลำต้นหนาและมีความแน่นของใบ ความสูงของต้นน้อยกว่า 2 เมตร สีใบออกเขียวเข้ม ดอกจะก่อตัวเป็นกระจุกหนา ๆ รอบ ๆ โหนดของเพศเมีย (รูปที่ 3) สายพันธุ์นี้อุดมไปด้วยสารสำคัญ จึงเป็นสายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้ทำสมุนไพรมากที่สุด
รูปที่ 3 ลักษณะทั่วไปของกัญชา (Marijuana, Cannabis indica)
รูเดอลาริส (Cannabis ruderalis) เป็นสายพันธุ์น้องใหม่ล่าสุดที่ถูกค้นพบเมื่อปี 1924 ในป่าภาคกลางที่รัสเซีย เป็นพืชในเขตหนาว ทนทานต่อความแห้งแล้ง ลำต้นเล็ก เตี้ย สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบแคบ (รูปที่ 4) ออกดอกเร็วภายใน 1-2 เดือน สายพันธุ์นี้ถูกกล่าวถึงน้อยมาก เนื่องจากมีสารสำคัญน้อย ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่ทนหนาวได้ดี นักปรับปรุงพันธุ์จึงได้นำสายพันธุ์ไปผสมกับพันธุ์อื่น ทำให้ลูกผสมรูเดอลาริสถูกนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น
รูปที่ 4 ลักษณะทั่วไปของรูเดอลาริส (Cannabis ruderalis)
การปรับปรุงพันธุ์กัญชงและกัญชา
เนื่องจากพืชกลุ่มนี้จะผลิตสารสำคัญที่มีประโยชน์อย่างมาก คือ สาร “แคนนาบินอยด์” (cannabinoid) ที่ประกอบด้วยสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) ตามลำดับ ซึ่งจัดเป็นสาร Endocannabinoid ที่มีโครงสร้างเหมือนกับสารที่พบในร่างกายมนุษย์ โดยทั้ง THC และ CBD ได้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย โดยสามารถลดอาการปวดจากอาการเจ็บป่วย ลดอาการคลื่นไส้ (nausea) ความวิตกกังวล (anxiety) เพิ่มความอยากอาหาร (appetite) และช่วยในการนอนหลับ เป็นต้น
สาร THC จะมีผลต่อระบบประสาทของมนุษย์ (psychoactive) ในขณะที่สาร CBD ไม่มีผลต่อระบบประสาทและยังช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากสาร THC นอกจากการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์แล้ว กัญชงกัญชายังสามารถถูกใช้ประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ส่งผลให้เป็นพืชชนิดนี้กำลังเป็นพืชทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มาแรงของประเทศไทย
นักปรับปรุงพันธุ์ได้พยายามผสมพันธุ์พืชกลุ่มนี้เพื่อให้ได้สารสำคัญตามต้องการและเข้าได้กับสภาพแวดล้อมในพื้นที่เพาะปลูกแต่ละที่ วิธีการแบบดังเดิมที่นิยมใช้กัน คือ วิธีผสมเกสร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน ในปัจจุบันได้มีวิธีการที่สามารถปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างรวดเร็ว และระยะเวลาอันสั้น นั้นคือ การใช้รังสีในการปรับปรุงพันธุ์ (รูปที่ 5) ซึ่ง สทน. เป็นหน่วยงานที่ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อยู่
รูปที่ 5 การชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ของพืชด้วยรังสี
กัญชงกัญชากับกฎหมายไทย
ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ 2522 ได้ระบุชัดเจนว่า กัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งในนิยามของกัญชานั้น จะรวมกัญชงเข้าไปด้วย ต่อมาได้ออกกฏกระทรวงใหม่ ลงวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้แยกกัญชงหรือที่ มีชื่อว่า เฮมพ์ ออกจากกัญชา จะไม่ใช้คำว่า กัญชง ในทางกฏหมาย ระบุว่า เฮมพ์ จะต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อน้ำหนักแห้ง
ดังนั้นกฎหมายไทยจึงไม่ได้นิยามกัญชงและกัญชาโดยอ้างอิงพื้นฐานอนุกรมวิธานทางพฤกษศาสตร์ แต่นิยามโดยถือเอาปริมาณสารสำคัญ THC ที่มีอยู่ในสายพันธุ์นั้น ๆ คือ Cannabis สายพันธุ์ใดที่มีสาร THC มากกว่า 1% ต่อน้ำหนักแห้ง ถือว่าเป็นกัญชาทั้งหมด ไม่ว่าผู้ประกอบการนำเข้าในชื่อพันธุ์ของกัญชงหรือไม่ก็ตาม และ Cannabis สายพันธุ์ใดที่มีสาร THC ต่ำกว่า 1% ต่อน้ำหนัดแห้ง จัดว่าเป็น เฮมพ์
จากประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์ และกัญชงพืชเศรษฐกิจ ในปัจจุบันได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ 2563 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน พรบ. ยาเสพติดให้โทษ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ได้ปลดล๊อคกัญชงและกัญชาในระดับหนึ่งแล้ว คือ ส่วนที่ยังจัดว่าเป็นยาเสพติดของกัญชา มี 2 ส่วน คือ ดอกตัวเมีย และเมล็ด สำหรับกัญชงเหลือเพียงดอกตัวเมียเท่านั้น ส่วนอื่น ๆ ไม่จัดว่าเป็นยาเสพติด ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้ โดยไม่ผิดกฏหมาย (รูปที่ 6) อีกทั้งกฏกระทรวงกัญชงฉบับใหม่ เริ่มบังคับใช้วันที่ 29 มกราคม 2564 เปิดกว้างให้ทุกส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชนทั่วไป สามารถขออนุญาตและนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ได้ทุกวัตถุประสงค์ ถึงตอนนี้กัญชงและกัญชากำลังจะกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ที่จะสร้างรายได้และเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการได้หลาย ๆ ส่วนต่อไป
รูปที่ 6 ส่วนใดเป็นหรือไม่เป็นยาเสพติดในกัญชงและกัญชา
เอกสารอ้างอิง
- กองควบคุมวัตถุเสพติด. 2564. เรื่องน่ารู้…กัญชาทางการแพทย์ กัญชงพืชเศรษฐกิจ. สืบค้นได้ที่ https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/?p=10195
- นัทธวงศ์ อนิวรรตน์. 2562. วงจรชีวิตของต้นกัญชาและการดูแลเพื่อนำไปสกัดเป็นยา. สำนักพิมพ์ พราวเพรส (2002) จำกัด. 318 หน้า
- Micheal Backes เขียน. จารวี นิพนธ์กิจ แปล. 2563. กัญชาทางการแพทย์ Cannabis pharmacy. สำนักพิมพ์แอร์ไรว์. 480 หน้า
คณะผู้จัดทำ
- นายวิชัย ภูริปัญญวานิช (ศน.)
- ดร. ละมัย ใหม่แก้ว (ศน.)
- นางสาวมยุรี ลิมติยะโยธิน (ศน.)
- นางสาวปิยนุช อ้อพงษ์ (ศน.)
มิ.ย. 2564