มิติใหม่: การบริหารจัดการแมลงวันผลไม้ในพื้นที่ส่งออกผลไม้

ข้อมูลจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Artboard 1

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก เนื่องด้วยความเอื้ออำนวยทางด้านภูมิศาสตร์ ความหลากหลายทางด้านภูมิอากาศ โดยผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกผลไม้จำนวน 45,613 ล้านบาทในปี 2563  และมีแนวโน้มการตลาดเพิ่มขึ้น 10 -15 % เกือบทุกปี  ปัจจุบันเกษตรกรมีการปลูกไม้ผล 57 ชนิด พื้นที่ประมาณ 7.7 ล้านไร่ ผลผลิตปีละประมาณ 10.81 ล้านตัน (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร, มิ.ย. 2563)

ปัญหาเรื่องแมลงวันผลไม้ที่เป็นแมลงศัตรูไม้ผลที่สำคัญ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีจากปริมาณผลไม้ที่ได้รับความเสียหายและปัญหาการส่งออก  ปัจจุบันในหลายประเทศพยายามที่จะปกป้องผลผลิตของตนเอง โดยมีการหยิบยกประเด็นกฎหมายกักกันพืชเข้มงวด (กีดกันแมลงวันผลไม้) ในการอ้างเพื่อกีดกันทางการค้า เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และอีกกว่า 17 ประเทศ ถ้าจะนำเข้าผลไม้จากแหล่งที่มีการระบาดของแมลงวันผลไม้ ผลไม้เหล่านั้นต้องผ่านมาตรการทางกักกันพืชที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงวันผลไม้ เช่น การอบไอร้อน การใช้ความเย็น และการฉายรังสีก่อน ซึ่งขณะเดียวกันเรื่องความปลอดภัยของอาหารหรือผลผลิตที่ปราศจากสารพิษตกค้างก็เป็นอีกประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญด้วย  ในแต่ละปีประเทศคู่ค้าตรวจพบแมลงวันผลไม้และสารฆ่าแมลงปนเปื้อนหลายครั้งในผลไม้ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ได้

การควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน (Sterile Insect Technique; SIT) ร่วมกับวิธีการอื่นในรูปแบบของครอบคลุมพื้นที่กว้าง (Area-wide Approach ) เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการใช้ในโลกมานานกว่า 60 ปี และได้รับการพิสูจน์แล้วในหลายพื้นที่ของไทยแล้วว่าสามารถลดความเสียหายของไม้ผลและการใช้สารเคมีกำจัดแมลงได้ เช่น แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร จันทบุรี ปทุมธานี นครนายก เพชรบุรี ราชบุรี จันทบุรี เป็นต้น    แต่ในต่างประเทศได้ใช้เทคนิคนี้สร้างเป็นเขตปลอดแมลงวันผลไม้ ยกตัวอย่างเช่น  ในสหรัฐอเมริกา ( เมือง Los Angeles รัฐ California) ทำให้ลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ต้นทุนการผลิตลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถส่งออกโดยไม่ต้องทำมาตรการทางกักกันพืชอื่นเพิ่มเติมและสร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้า   ในเม็กซิโก ทำให้สามารถส่งออกผลผลิตเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้มากกว่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี  ในออสเตรเลีย (Victoria และ New South Wales) ทำให้สามารถสร้างผลประโยชน์ได้ 31 เท่าของการลงทุน ถ้าไม่ดำเนินการโครงการจะสูญเสียประโยชน์มากกว่า 3265.7 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ในชิลี ทำให้สามารถส่งออกผลไม้ไปขายในประเทศต่างมากกว่า 50 ประเทศ (ประเทศผู้ส่งออกผลไม้อันดับ 3 ของโลก) สร้างรายได้ได้มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี  ในเบลีซ และกัวเตมาลาทำให้สามารถส่งออกมะละกอไปสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องทำมาตรการกักกันพืชอื่น นอกจากนี้ยังมี ญี่ปุ่น อาร์เจนตินา สเปน กัวเตมาลา เป็นต้น   แต่บางประเทศ เช่น คอสตาริก้า เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิคารากัว ได้ใช้เทคนิคนี้สร้างพื้นที่ประชากรแมลงวันผลไม้ในระดับต่ำที่ยอมรับได้ทางกักกันพืช ทำให้สามารถส่งมะเขือเทศและพริกหยวกไปขายต่างประเทศ

ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการบริหารจัดการแมลงวันผลไม้เพื่อสร้างต้นแบบพื้นที่มีประชากรแมลงวันผลไม้ในระดับต่ำตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านมาตรการสุขอนามัยพืช (International  Standard  for  Phytosanitary  Measures) ฉบับที่ 30  (Establishment of  Areas of Low Pest Prevalence for Fruit Flies (Tephitidae) ) และฉบับที่ 35 ( System Approach for Pest Risk Management of Fruit Flies (Tephitidae))  ซึ่งกำหนดให้จำนวนแมลงวันผลไม้เฉลี่ยที่ดักจับได้ด้วยกับดักตรวจสอบในพื้นที่ต้องไม่เกิน 1 ตัวต่อกับดักต่อวัน  โดยการใช้แมลงที่เป็นหมันร่วมกับการใช้กับดัก  การกำจัดพืชอาศัยและการทำความสะอาดแปลง   ในพื้นที่ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี คลอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 16,000 ไร่ (พื้นที่ปลูกมังคุดส่งออกที่สำคัญของประเทศ ผลผลิตมากกว่า 5,000 ตันต่อปี) เพื่อสร้างมิติใหม่สำหรับการส่งออกผลไม้คุณภาพของประเทศไทย  ลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงเพื่อแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิต  ลดค่าใช้จ่ายการขนส่ง การอบไอน้ำ ใช้ความเย็น หรือการฉายรังสีหลังการเก็บเกี่ยว  และแก้ปัญหาแมลงวันผลไม้ปนเปื้อนผลผลิตที่ส่งออก เพื่อเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต

ผู้เขียน:
นายวณิช ลิ่มโอภาสมณี, นายทศพล แทนรินทร์,
นางสาวฐิติมา คงรัตน์อาภรณ์, นางสาววรารัตน์ คำหวาน
(ฝ่ายเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์)

วันที่ 23 มีนาคม 2564

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบ

Only administrators can add new users.

เข้าสู่ระบบ