อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ และ มาตราระหว่างประเทศ ว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์

ข้อมูลจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Artboard 1 copy 7

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลา 14:46 ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น มีความรุนแรงขนาด 8.9 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางไปทางตะวันออกของชายฝั่งเมือง ซานริกุ (ละติจูด 38 องศาเหนือ ลองจิจูด 142.9 องศาตะวันออก) โดยเกิดที่ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตรใต้พื้นดิน จากรายงานของ Nuclear and Industrial Safety Agency หรือ NISA ซึ่งเป็นหน่วยกำกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่น ผ่านทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบบริเวณชายฝั่ง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ อยู่ทั้งหมด 5 บริเวณ ทั้งบนเกาะฮอกไกโด และฮอนชู โดยมีจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รวมทั้งหมด 17 โรง ในการรายงานครั้งแรก ของ NISA นั้นพบว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังเดินเครื่องอยู่มีทั้งหมด 13 โรง และหยุดทำการบำรุงรักษาอีก 4 โรง ขณะที่เกิดแผ่นดินไหว โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังเดินเครื่องอยู่นั้นได้ทำการปิดตัวลงอย่างอัตโนมัติ

ต่อมาเมื่อเวลาโดยประมาณ 18:33 น. ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 โรงที่ 2 และโรงที่ 3 ของโรงไฟฟ้า Fukushima-Daiichi พบว่ามีระดับรังสีสูงกว่าปกติในห้องควบคุมของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จึงประกาศแจ้งเตือน ตามมาตรา 10 และมาตรา 15 ของกฎหมายมาตรการพิเศษสำหรับการเตรียมความพร้อมฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนให้มีการเตรียมความพร้อมสูงสุด และต้องปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดระดับความรุนแรงของเหตุการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Fukushima-Daiichi โรงที่ 1 ตาม International Nuclear and Radiological Event Scale (INES) เป็นระดับ 4 ซึ่งหมายถึงเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อบริเวณโดยรอบ และเป็นความรุนแรงระดับเดียวกันกับอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่เมืองโตไกมูระ พ.ศ. 2542

เพื่อความเข้าใจ “ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ว่ามีกี่ระดับ แต่ละระดับ มีรายละเอียดอย่างไร ก็จะได้ให้อรรถาธิบายพอสังเขป พร้อมยกตัวอย่าง ดังนี้

นับแต่มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องแรก “ชิคาโกไพล์-1” เป็นต้นมา การวิจัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ก็ตามมา ทั้งทางทหารและการนำความร้อนไปผลิตกระแสไฟฟ้า จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะทำให้เกิดความห่วงกังวล ด้านการเกิดอุบัติเหตุและผลร้ายที่เกิดตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจากการสูญเสียตัวทำให้เย็นหรือโลคา (loss of coolant accident; LOCA) อันเป็นผลให้เชื้อเพลิงของเครื่องปฏิกรณ์เกิดการหลอมละลาย และปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีให้แพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยในปี 1955 ผลการศึกษาพบว่า โอกาสการเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขั้นร้ายแรงอยู่ระหว่าง 1 ใน 100,000 ถึง 1 ใน 1,000,000,000 เท่านั้น

ดังนั้น กว่า 50 ปีที่ผ่านมา การทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ใน 32 ประเทศ ได้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่เพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ ที่ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (Three Mile Island) สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1979 และที่เชอร์โนบิล (Chernobyl) ยูเครน เมื่อปี 1986 ซึ่งอุบัติเหตุทั้งสองครั้งนี้เชื้อเพลิงเกิดการหลอมละลาย

อุบัติเหตุทั้งสองครั้งที่ทรีไมล์ไอส์แลนด์และเชอร์โนบิลทำให้คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นช่วงที่สาธารณชนทั่วโลก มีความตื่นตัวด้านภัยพิบัติอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ จากการปฏิบัติงานของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนามาตรา (scale) สำหรับการประเมินเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ที่ใช้ทั่วไป ทำนองเดียวกับมาตรา ที่ใช้ประเมินความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่มีใช้และคนทั่วไปมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว โดยในปี 1990 ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ (International Atomic Energy Agency; IAEA) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนา มาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (The International Nuclear and Radiological Event Scale; INES) ขึ้นมา และมีการปรับปรุงมาเรื่อย ๆ หลายครั้ง เช่น ในปี 1992 และ 2001 ทั้งนี้ INES เป็นมาตราที่ใช้สำหรับสื่อสารกับสาธารณชนให้เข้าใจได้ง่าย แบ่งความรุนแรงออกเป็น 7 ระดับนี้ โดยระดับที่ 1-3 จัดเป็นอุบัติการณ์ (incident) และตั้งแต่ระดับที่ 4-7 จัดเป็นอุบัติเหตุ (accident)

ตารางคำอธิบายมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES)

สำหรับกรณีทรีไมล์ไอส์แลนด์นั้น เครื่องปฏิกรณ์เสียหายอย่างหนัก แต่สารกัมมันตรังสีถูกกักอยู่ภายใน อาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์ (containment) จึงไม่ส่งผลร้ายด้านสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมภายนอก จากตาราง จัดความรุนแรงอยู่ในระดับ 5 ในขณะที่ที่เชอร์โนบิลซึ่งไม่มีอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์ การที่เครื่องปฏิกรณ์ถูกทำลาย จากการระเบิดของไอน้ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 31 คน และมีผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างรุนแรง จัดความรุนแรงอยู่ในระดับสูงสุดคือระดับ 7 การเปรียบเทียบกรณีทั้งสองนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลดผลต่อภายนอกโรงไฟฟ้า (off-site) ให้น้อยที่สุด ก็จะลดความเสียหายได้เป็นอันมาก

โพสต์เมื่อ : 16 มีนาคม 2554

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบ

Only administrators can add new users.

เข้าสู่ระบบ