แสนสุข เวชชการัณย์
ศูนย์เครื่องปฏิกรณ์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย คือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ใช้สำหรับการศึกษา การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเป็นแหล่งผลิตนิวตรอนขนาดใหญ่ ซึ่งนำนิวตรอนที่ผลิตได้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆไม่ว่จะเป็นทางด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตร นิติวิทยาศาสตร์ หรือการวิจัยต่างๆ เป็นต้น
นับตั้งแต่กำเนิดเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเครื่องแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2485 ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูก็ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆตามมา เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูส่วนหนึ่งได้รับการพัฒนาไปเพื่อใช้พลังงานความร้อนที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ไปผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งกลายมาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในปัจจุบัน ในขณะที่งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งทำการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเพื่อนำเอานิวตรอนที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย
เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเป็นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่มีการออกแบบเฉพาะตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งผู้ผลิตสามารถทำการออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ได้ โดยยังคงต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เป็นไปตามกฏหมายของประเทศที่จะทำการสร้างและตามมาตรฐานสากล ในปัจจุบันยังคงมีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น
ภายหลังจากที่การสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฯแล้วเสร็จ กระบวนการเดินเครื่องปฏิกรณ์ฯ (operation) จะเริ่มต้น ทั้งนี้อายุของเครื่องปฏิกรณ์ฯจะแตกต่างกันไปขึ้นกับการใช้งาน การออกแบบและการบำรุงรักษา อย่างไรก็ตามภายหลังจากการเดินเครื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง เครื่องปฏิกรณ์ฯอาจมีการผ่านเข้าสู่กระบวนการหยุดใช้งานชั่วคราวเพื่อทำการปรับปรุงระบบก่อนที่จะเริ่มกลับมาทำงานได้อีกครั้ง (Temporary shutdown) จากนั้นอาจมีการหยุดการทำงานระยะยาวเพื่อรอการกำหนดทิศทางดำเนินการ (Extended shutdown) หรือเข้าสู่กระบวนการหยุดทำงานถาวรเพื่อรอการปลดระวาง (Permanent shutdown) เมื่อหน่วยงานที่ดูแลเครื่องปฏิกรณ์ฯมีความพร้อมที่จะทำการปลดระวางแล้ว เครื่องปฏิกรณ์ฯจะเข้าสู่ช่วงระยะเวลาของการปลดระวาง (Under decommissioning) และสุดท้ายเป็นช่วงของการปลดระวางเครื่องปฏิกรณ์ฯสำเร็จ (Decommissioned) ตารางด้านล่างแสดงจำนวนของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยในปัจจุบัน จำแนกตามช่วงชีวิตของเครื่องปฏิกรณ์ฯ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และในประเทศกำลังพัฒนา
จากจำนวนเครื่องปฏิกรณ์ฯที่ยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจำนวน 223 เครื่องนั้น หากนำมาจำแนกออกตามอายุของตัวเครื่องแล้ว จะพบว่ามากกว่าครึ่งของเครื่องปฏิกรณฯที่ยังคงทำงานอยู่มีอายุเกินกว่า 40 ปีแล้ว ดังแสดงในรูป
ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าอีกไม่นาน เครื่องปฏิกรณ์ฯจำนวนมากเหล่านี้อาจถึงเวลาที่ต้องทำการปลดระวางลงด้วยเหตุผลต่างๆกัน ดังนั้นการวางแผนเพื่อจัดหา จัดสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยใหม่ขึ้นมาทดแทนของเดิม จึงเป็นสิ่งที่ควรเริ่มพิจารณาอย่างจริงจัง
เอกสารอ้างอิง
- IAEA Research Reactor Database (RRDB), https://nucleus.iaea.org/RRDB/RR/ReactorSearch.aspx, accessed April, 2021